Interpreting @ Ground Zero!
ในระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2553 สองวันหลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวายบริเวณราชประสงค์อันสืบเนื่องจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงหรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ได้ยืดเยื้อมากว่า 2 เดือนซึ่งก่อให้เกิดปรากฎการณ์โดมิโน่การจลาจลไปทั้งกรุงเทพมหานคร และอีกหลายจังหวัดด้วยนั้น ผมมีโอกาสได้ลงปฏิบัติหน้าที่ล่ามและนักแปลติดตามภาวะหลังเหตุการณ์ดังกล่าวทันที โดยได้ทำหน้าที่ล่ามติดตามผู้สื่อข่าวและช่างภาพจากสถานีโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศฟินแลนด์ (YLE) ซึ่งออกอากาศเป็นภาษาฟินนิชและสวีดิชไปยังหลายประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย
งานนี้ทำให้ผมเห็นและเข้าถึงความตื้นลึกหนาบางของเหตุการณ์ในอีกมิติหนึ่งก็ว่าได้ ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของบุคคลหลายฝ่ายที่พยายามจะทำสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ความปรกติสุขโดยเร็วที่สุดนั้น บางท่านก็ยินดีจะคุยกับเรา บางท่านก็ยุ่งเกินกว่าที่จะทำเช่นนั้นได้ อย่างไรก็ตาม เราก็ได้คุยกับบุคคลสำคัญๆ (ในมุมมองของผม) ที่อยู่ท่ามกลางเหตุการณ์นี้ อาทิเช่น แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และทหารหาญผู้ทำการค้นหาและเก็บกู้วัตถุระเบิด เป็นต้น ผมเดินและวิ่งติดตามทำหน้าที่ล่ามอย่างกระชั้นชิดท่ามกลางความร้อนระอุของอากาศกอรปกับเศษขยะและความเหม็นอบอวลทั่วทั้งบริเวณสี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียง เช่น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เป็นต้น
ความสูญเสียครั้งนี้ใหญ่หลวงนักสำหรับประเทศไทยโดยรวม แต่ใช่ว่าเราจะกลับคืนมาเป็นสยามเมืองยิ้มอีกไม่ได้ ผมมั่นใจว่าเราทำได้ หากแต่ว่าอาจจะเป็นการยิ้มที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง เราทุกคนต้องเปิดใจกว้างและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้คนจากทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย และทุกหมู่เหล่า ความแตกต่างเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษยชาติอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้โดยผ่านการวิวัฒนาการมานับล้านๆ ปี ประเทศไทยก็เช่นกัน การที่จะอยู่รอดอย่างมั่นคงไปในอนาคตนั้น จักต้องมีความแตกต่างท่ามกลางความเหมือนให้ได้ ยิ่งต่างเท่าใด ยิ่งมีความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่ผันแปรของโลกปัจจุบันได้มากเท่านั้น หากคนไทยและประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวดังกล่าวได้แล้ว ความเป็นไทย (และความเป็นไท) มากว่า 700 ปีนับตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา ก็คงยากที่จะเรียกกลับคืนมาได้
แต่ความสูญเสียทางด้านวัตถุและเงินตราไม่สามารถจะเปรียบได้เลยกับความสูญเสียทางด้านสังคม วัฒนธรรม และการเมือง และที่ลึกไปกว่านั้นก็คือความสูญเสียทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณของความเป็นไทย ถึงเวลาแล้วที่ทุกๆ ฝ่ายข้างต้นจักต้องมีเวทีในการสื่อสารความคิดเห็นที่แตกต่างของตนให้เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางได้ และคนไทยทุกๆ คน ผมขอเน้นว่า ทุกๆ คน นะครับจะต้องยอมรับถึงความแตกต่างนั้น และกลั่นกรองความต่างดังกล่าวออกมาเป็นความเหมือนแห่งความเป็นไทย และ ความเป็นไท ให้จงได้
ดร. โจ้
|